หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/634

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๘๑

เสด็จที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร นั้น กรมหมื่นพิทยาลาภฯ คือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติในขณะนั้น ได้โดยเสด็จด้วย ได้ทรงรับสั่งเป็นพยานว่า รู้สึกว่า ทรงพอพระทัยมากในการที่ได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร แม้ว่าจะไม่สู้ทรงสบายนัก อุตส่าห์เสด็จไป ทรงรับสั่งว่า เมื่อเตรียมการไว้แล้วก็ต้องไป เมื่อเสด็จผ่านอาณาประชาชน ก็ทรงปราศรัยซักถามถึงการทำมาหากิน ถามถึงความอยู่เย็นเป็นสุข ตลอดจนการโจรผู้ร้ายว่า มีมากเพียงใด หรือได้รับความเดือดร้อนประการใดบ้าง เวลาที่ราษฎรถวายสิ่งของ ก็พระราชทานเงินที่เรียกว่า "เงินก้นถุง" ทั้งกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ข้าหลวงประจำจังหวัด ให้ช่วยเหลือทุกข์ร้อนของราษฎรซึ่งได้รับความเดือดร้อน นอกจากนั้น ยังได้เสด็จประพาสวัดบางแห่ง เช่น วัดบวรนิเวศน์ และวัดพระเชตุพน ซึ่งปรากฏว่า ทุกคราวที่เสด็จ ได้มีอาณาประชาชนมาเฝ้าแหนอยู่เนืองแน่น ในตอนสุดท้าย ได้เสด็จประพาสสำเพ็ง ในการเสด็จประพาสสำเพ็งนี้ โจทก์ขอกราบเรียนเล่าเรื่องสักเล็กน้อย คือ ตามทางการพิจารณาที่โจทก์นำสืบ ในการที่จะเสด็จสำเพ็งนั้น รัฐบาลในสมัยนั้นเกรงว่า จะเป็นการผิดพระราชประเพณี ก็ได้ให้มหาวงศ์ เชาวนะกวี ซึ่งได้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีนี้ และเป็นผู้ที่ถวายพระอักษรในหลวงในพระองค์นั้น ให้ไปทูลถามกรมหมื่นพิทยลาภฯ ซึ่งในขณะนั้น คือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ว่า การที่ในหลวงจะเสด็จสำเพ็งเป็นการผิดพระราชประเพณีหรือไม่ พระองค์