หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/636

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๘๓

มีพลโท พระศิลปศาสตราคม สมุหราชองครักษ์ เฝ้าอยู่ด้วย ปรากฏจากการพิจารณาว่า พระองค์ทรงห่วงใยถึงการครองชีพของประชาชนพลเมืองทั้งหลาย โดยได้ทรงซักไซ้บรรดาข้าราชการที่เฝ้าอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้

โจทก์ได้นำสืบโดยโจทก์ระลึกว่า ในคดีฆาตกรรมนั้น โดยปกติแล้ว มักจะมีสาเหตุ ดังนั้น โจทก์จึงได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบว่า มีสาเหตุอย่างไรในกรณีนี้ แต่ก่อนที่โจทก์จะกราบเรียนต่อไป ใคร่ขอประทานกราบเรียนว่า ในเรื่องสาเหตุนี้ โดยปกติ ในการฆาตกรรมแล้ว เป็นที่เข้าใจกันว่า ต้องเนื่องมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เพราะเหตุว่าอยู่ดี ๆ จะมีคนฆ่ากันนั้นย่อมไม่มีเป็นแน่ อย่างน้อยที่สุด จะต้องมีสาเหตุเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่สาเหตุที่เกิดมาก่อนนั้น ที่ไม่ปรากฏแก่วงการศาล ก็เพราะว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนค้นคว้าไปไม่ถึง ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เหตุเหล่านั้นอาจจะมืดมิดซ่อนเร้นจนไม่สามารถจะสืบสวนค้นคว้าได้ ดังเช่น เผอิญผู้ตายกับผู้ร้ายมีเรื่องโกรธเคืองกันโดยเฉพาะ และทะเลาะเบาะแว้งกันเฉพาะตัวโดยไม่มีใครรู้ ต่อมา เกิดฆ่ากันขึ้นโดยสาเหตุนั้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ บางทีก็ไม่มีทางสืบได้ว่า สาเหตุเป็นอย่างไร แต่โดยปกติแล้ว เป็นที่เข้าใจกันว่า จะต้องมีสาเหตุ ดังนั้น โจทก์จึงจำเป็นต้องนำสืบหลายประการด้วยกัน แต่ถึงแม้ว่าจะนำสืบเท่าที่ปรากฏในศาลแล้วก็ดี แต่ก็อาจจะมีสิ่งซ่อนเร้นลี้ลับดั่งกล่าวมาแล้วก็ได้