หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ต้น).pdf/2

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๒ –

เหมือนกัน คือ ผู้หญิงกับผู้หญิง จึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้กรอกคำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว (แบบ คร. ๑) ในระบบ ซึ่งการสมรสต้องเป็นบุคคลเพศชายกับเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น ต่อมาวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว และขอให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนสมรสให้ และวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่มีหนังสือแจ้งว่า ทำหนังสือชี้แจงการอุทธรณ์ไปยังนายทะเทียนกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณา และได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือ ที่ กท ๕๗๐๐/๒๖๙๙ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ว่า การที่นายทะเบียนเขตบางกอกใหญ่มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนสมรส เนื่องจากผู้ร้องทั้งสองมีเพศสภาพเดียวกัน จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการสมรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ คำอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น ให้ยกอุทธรณ์

ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า การปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสมรสด้วยเหตุที่เป็นบุคคลที่มีเพศกำเนิดเหมือนกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ นั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้เสมอกันในทางกฎหมาย ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ อันเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ และกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ ข้อ ๓ เป็นการตัดโอกาสการได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสเหมือนคู่สมรสอื่น ๆ ที่เป็นเพศหญิงและเพศชายโดยกำเนิด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ปวงชนชาวไทยทุกคนควรจะได้รับ การปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสมรสไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่นายทะเบียนบางกอกใหญ่ไม่รับจดทะเบียนให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ย่อมเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องโดยตรง จึงยื่นคำโต้แย้งต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ โดยให้เหตุผลดังนี้