หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ต้น).pdf/6

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๖ –

ไว้ด้วย" และวรรคสอง บัญญัติว่า "กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง" และมาตรา ๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" และวรรคสาม บัญญัติว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้"

การจัดทําและรวบรวมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในอดีตเกิดจากแนวคิดที่ว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในช่วงเวลานั้นกระจัดกระจาย เพื่อให้สมแก่กาลสมัย ความเจริญ พาณิชยกรรม แห่งบ้านเมือง และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ สมควรจะนํามารวบรวมไว้แห่งเดียวกันและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ ซึ่งในขั้นการยกร่างกฎหมาย คณะกรรมการร่างกฎหมายอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของต่างประเทศเป็นแนวทางในการดําเนินการ โดยคํานึงถึงความมั่นคง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตตั้งเดิมของสังคมไทยเป็นสําคัญ สําหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว บัญญัติขี้นเป็นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ต่อมามีการปรับปรุงโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชําระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติว่า "การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้" เป็นบทบัญญัติที่กําหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้ ๒ ประการ คือ เป็นการสมรสระหว่าง "ชายและหญิง" และต้องมีอายุสิบเจ็ดปีปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้ โดยความหมายของการสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีกริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนา และกฎหมายของแต่ละสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม