หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/15

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๒ –

ช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ" มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นใปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย" และวรรคสอง บัญญัติว่า "กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง" และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" และวรรคสาม บัญญัติว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้" จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในฐานะปวงชนชาวไทยไว้ในหลายเรื่องด้วยกัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติในบรรพ ๕ ครอบครัว ลักษณะ ๑ การสมรส หมวด ๒ เงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งบัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"

พิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ ของบุคคลโดยทั่วไป โดยเริ่มต้นจากการกำหนดสภาพบุคคลอันเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายนับแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย บุคคลผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายอาจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ได้ทั้งทางทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก นิติสัมพันธ์ทางครอบครัวที่จะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายครอบครัวบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว โดยได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตร หรือบุตรบุญธรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งสถาบันครอบครัว ความสัมพันธ์ในทางครอบครัวย่อมต้องเริ่มต้นจากการสมรส กล่าวคือ บุคคลตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อประสงค์ที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้หลายประการด้วยกัน อาทิ การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควรศาลจะอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ตามมาตรา ๑๔๔๘ การสมรส