หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/16

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

จะกระทำมิได้ ถ้าชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ตามมาตรา ๑๔๕๐ การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายหรือหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันต่อหน้านายทะเบียนตามมาตรา ๑๔๕๘ หรือการสมรสจะมีได้ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแล้วตามมาตรา ๑๔๕๗ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การสมรสที่จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่จะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรส จะต้องเป็นการสมรสตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว กล่าวคือ พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ ด้วย และเมื่อมีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็จะนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสในฐานะสามีภริยา หรือสิทธิและหน้าที่ในฐานะบิดามารดาที่มีต่อบุตร เช่น การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ การร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตร หรือการใช้อำนาจปกครองบุตรอันเป็นสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของคู่สมรสในทางส่วนตัวตามจารีตประเพณีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่บัญญัติให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้นเป็นเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ หรือเพราะเหตุที่บุคคลมีเพศกำเนิดเหมือนกันไม่สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติให้ชายและหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ตามกฎหมาย เป็นกรณีการนำหลักการเรื่องเพศในลักษณะทางชีวภาพมาเป็นเงื่อนไขความสมบูรณ์ของการสมรสที่จะก่อให้เกิดผลบังคับในทางกฎหมาย โดยกำหนดให้ "เพศชาย" หรือ "เพศหญิง" ในที่นี้หมายความรวมเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิงซึ่งเป็นเพศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและติดตัวบุคคลนั้นมาตั้งแต่กำเนิดเท่านั้นที่จะทำให้การสมรสนั้นสมบูรณ์และก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ในฐานะคู่สมรสระหว่างกันตามกฎหมาย โดยมีได้หมายความรวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลที่มีภาวะทางร่างกายหรือจิตใจไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อรองรับความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงในลักษณะการสร้างครอบครัว ที่ประกอบไปด้วยสามีภริยา บิดามารดาและบุตร อันจะก่อให้เกิดสถาบันครอบครัวที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมเพื่อผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคมและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบทบาทที่เชื่อมโยงกับสถาบันอื่น ๆ ของสังคม เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ จะเห็นว่า เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดเงื่อนไขการสมรสอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสในฐานะสามีภริยาตามมา ไม่เพียงเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว ยังมีบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๑ บิดามารดา ที่กำหนด