หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/21

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

๑.๓ การจดทะเบียนคู่ชีวิต

๑.๓.๑ สัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา ๖)

สัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาดังกล่าว ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

๑.๓.๒ เงื่อนไขของการจดทะเบียนคู่ขีวิต (ร่างมาตรา ๗ ร่างมาตรา ๘ และ มาตรา ๑๑)

๑) อายุ การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์

๒) สัญชาติ การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

๓) ความยินยอม การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ยินยอมเป็นคู่ชีวิตกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

๑.๔ สถานะจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา ๑๔)

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึกสถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการสมรสของบุคคล ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวและข้อมูลทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ สถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

๒.๑ หลักการและเหตุผล

โดยที่กฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตได้กําหนดให้บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกําเนิดสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ โดยมีสิทธิและหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวในลักษณะทํานองเดียวกันกับคู่สมรส สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้