ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และบรรพ ๖ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก และกฎหมายอื่น ๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้น ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่กำหนดให้การสมรสทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้จะเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิที่พอสมควรแก่เหตุ สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ทั้งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ นอกจากนี้ บทบัญญัติของมาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิในการสมรสทั้งเพศชายและเพศหญิง ไม่ได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศแต่อย่างใด จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามด้วย
อย่างไรก็ดี ในสังคมไทยปัจจุบันมีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือความเชื่อมโยงทางเพศ หรือบุคคลที่เกิดมามีภาวะทางร่างกายหรือจิตใจไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่กำเนิด อยู่ร่วมกันในสังคมด้วย รัฐจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อไม่ขัดขวาง ทั้งยังต้องสนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิตและแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันดังกล่าว อันเป็นการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิของคู่รักเหล่านั้นให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายและหญิงโดยให้เกิดความเสมอภาคตามกฎหมายในสังคมต่อไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แต่รัฐควรออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายและหญิงต่อไป
(นายวิรุฬห์ แสงเทียน)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ