หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/36

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัจจุบันมิได้ห้ามบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กัน มิได้ห้ามการจัดพิธีแต่งงาน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็เป็นกรรมสิทธิ์รวม มิได้ห้ามทำประกันชีวิตระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้รับประโยชน์ มิได้ห้ามทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่คู่ชีวิต สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองที่อ้างว่า ไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส เช่น การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมนั้น เห็นว่า สิทธิดังกล่าวมิได้เกิดจากสถานภาพการสมรสโดยตรง แต่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัญหาดังกล่าวจึงสามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ ดังเช่นที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... เพื่อให้สิทธิกับบุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกันให้มีสิทธิต่าง ๆ ดังกล่าว ชายและหญิงจึงเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ การดำรงอยู่ของสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมยึดถือ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐและสังคม ช่วยเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม

จิรนิติ หะวานนท์
(นายจิรนิติ หะวานนท์)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ