หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/4

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๔ –

คนหนึ่งคนใดในครอบครัว เป็นผลให้ประเทศกลุ่มหนึ่งให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันโดยการจดทะเบียนสมรส ในช่วงแรกประเทศกลุ่มนี้จะตรากฎหมายเฉพาะรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตก่อนและพัฒนาจนถึงการรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ประเทศกลุ่มหนึ่งรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกัน โดยการตราเป็นกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งยังมีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลเป็นบ่อเกิดในการรับรองให้มีการจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกัน เห็นได้ว่า รูปแบบการยอมรับหรือรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันในแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่หลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของวัฒนธรรม ศาสนา กฎหมาย และบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย แม้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ กำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้เฉพาะ “ซายและหญิง” แต่มิได้หมายความว่า กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคู่รักเพศเดียวกันจะถูกละเลยจากการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย เห็นได้จากมีการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาใช้บังคับ และขณะนี้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเจตนารมณ์ของการเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและรับรองความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตการเลิก การเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดกอันสอดคล้องบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง และหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ ทั้งยังเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับที่ประเทศส่วนหนึ่งนำมาใช้ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันด้วย

ข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า เงื่อนไขของการสมรสที่กำหนดให้กระทำได้ระหว่างชายและหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากกฎหมายในการอยู่ร่วมกันเหมือนกับคู่สมรสต่างเพศ และต้องประสบปัญหาจากการไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิต ทั้งยังต้องสูญเสียสิทธิตามกฎหมาย หรือไม่อาจเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายครอบครัวที่สำคัญบางประการ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นั้น เห็นว่า