หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/5

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๕ –

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขการสมรสโดยให้กระทำได้ เมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ การบัญญัติเงื่อนไขในเรื่องการสมรสไว้เฉพาะ “ชายและหญิง” เช่นนั้นเพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ชอบด้วยกฎหมายโดยอยู่บนพื้นฐานของวิถีชีวิต จารีตประเพณีและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของสังคมไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ มีข้อจำกัดในทางกฎหมายให้คู่สมรสต้องเป็นเพศตรงข้าม เป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ได้จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการอยู่ร่วมกัน และไม่ได้มีข้อความไปจำกัดสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใด ๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ที่ให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลว่าต้องไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตภายใต้หลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งจารีตประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมของรัฐ ซึ่งในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิง การที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งว่าการสมรสของบุคคลเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๔๘ กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการสมรสเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลที่บุคคลพึงมีสิทธิเลือกที่จะกำหนดสถานะตนเองไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างสิทธิของบุคคลในการเลือกสมรส (the right to personal choice regarding marriage) เพื่อจะใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันได้แล้วต่อไปในภายภาคหน้าก็จะมีบุคคลร้องอ้างสิทธิในการสมรสกับคู่ครองหลายคนได้ รวมทั้งอ้างสิทธิหรือเสรีภาพในการสมรสโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขในเรื่องอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์อีกด้วย นอกจากนี้ หากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๘ ในเงื่อนไขแห่งการสมรส ย่อมส่งผลกระทบให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งมีถ้อยคำบ่งบอกถึงเพศตามกำเนิด เช่น “ชาย หญิง” และ “สามี ภริยา”