หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/6

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๖ –

ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลรัษฎากร เป็นต้น เมื่อปรากฏว่า ปัจจุบันมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน อันเป็นการคำนึงถึงบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การกำหนดถึงสถานภาพคู่ชีวิตสิทธิในทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต สิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิอื่น ที่ผู้ร้องประสงค์ให้รัฐคุ้มครองเป็นหน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบกฎหมาย มิให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

ดังนั้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่กำหนดเงื่อนไขการสมรสโดยให้กระทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจงตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ทั้งยังคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชายและหญิงตามกฎหมายเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แต่อย่างใด

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสองบและวรรคสาม

วรวิทย์ กังศศิเทียม
(นายวรวิทย์ กังศศิเทียม)
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ