หน้า:จมห ไต่สวนนายกุหลาบฯ - ๒๔๗๒.pdf/3

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ข)

เล่ม ๑๘ หน้า ๘๗ ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) นั้นแล้ว

หนังสือต่าง ๆ ในสำนวนการไต่สวนนายกุหลาบครั้งนั้น สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ ทรงเรียบเรียงเข้าแฟ้มรักษาไว้ที่วัดบวรนิเวศ ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๖ ประทานข้าพเจ้ามาให้รักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ด้วยทรงพระดำริว่า ถึงมิใช่เรื่องสำคัญ ก็เป็นจดหมายเหตุในทางราชการเรื่องหนึ่ง สมควรจะรักษาไว้มิให้ศูนย์ไปเสีย ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับหนังสือเรื่องนี้มา ก็ได้คิดปรารภว่า น่าจะพิมพ์ แต่มานึกลังเลไม่แน่ใจว่า จะเป็นประโยชน์หรือไม่ เพราะกรณีย์เป็นแต่เรื่องมุสาวาทของนายกุหลาบ ใคร ๆ ในสมัยนั้นก็รู้อยู่ด้วยกันว่า นายกุหลาบชอบแต่งหนังสือเอาความเท็จมาแซกแซมหนังสือเก่าบ้าง แต่งขึ้นใหม่แล้วอ้างอวดว่า ได้ฉะบับมาจากที่โน่นที่นี่บ้าง ลวงผู้อื่นให้หลงเชื่อว่า เป็นความจริง เรื่องนี้ผิดกับเรื่องอื่นเพียงถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทจนต้องโปรดฯ ให้มีกรรมการไต่สวน หามีแก่นสารซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทางความรู้ไม่ ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ดังกล่าวมา จึงยังมิได้พิมพ์หนังสือเรื่องกรรมการไต่สวนนายกุหลาบให้ปรากฏแพร่หลาย

ครั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้มาขออนุญาตต่อราชบัณฑิตยสภาว่า ใคร่จะคัดหนังสือบางเรื่องซึ่งนายกุหลาบแต่งอันรวมไว้ (ตู้หนึ่งต่างหาก) ในหอพระสมุดวชิรญาณ ข้าพเจ้าถามถึงประโยชน์ที่เขามุ่งหมาย ได้ความว่า เพื่อจะเอาไปใช้เป็นตำราศึกษาโบราณคดี ข้าพเจ้านึกเฉลียวใจขึ้นมาว่า เห็นจะถึงเวลาแล้วที่ควรจะบอกอธิบายให้คนในสมัยนี้รู้ว่า หนังสือของ