หน้า:ตำนานฯ สามก๊ก - ดำรง - ๒๔๗๑ b.pdf/12

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๑๐

ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยสองเรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องหนึ่ง กับเรื่องสามก๊ก เรื่องหนึ่ง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ไม่มีในจดหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า เป็นความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาเป็นพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่าง ๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับตำรับตำราในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทั้งที่รวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉบับหลวงมักมีบานแพนกแสดงว่าโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กสองเรื่องนี้ต้นฉบับที่ยังปรากฏอยู่มีแต่ฉบับเชลยศักดิ์ขาดบานแพนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญว่าแปลเมื่อใด ถึงกระนั้นก็ดี มีเค้าเงื่อนอันส่อให้เห็นชัดว่า หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองเรื่อง เป็นต้นว่า สังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่งซึ่งสมมุติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญในการเป่าปี่ ก็คือ เอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณี