หน้า:ตำนานฯ สามก๊ก - ดำรง - ๒๔๗๑ b.pdf/57

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๕
๗ รูปภาพสามก๊ก

ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อออกไปถึงรูปภาพจีนว่า ไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าในเรื่องอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนังที่ชอบใช้แต่งตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเปนรูปเรื่องสามก๊กเปนพื้น[1] ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่น จนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่า เปนบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้น เมื่อสืบสวนหาตำรา ได้ความว่า เปนรูปคิดสมมติขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมติขึ้นก่อน โดยเอาวิสัยของตัวบุคคลตามที่ปรากฎในเรื่องมาคิดแต่งหน้าแต่งตัวแลทำกิริยาอาการให้เห็นว่า เปนเช่นนั้น ๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเปนแบบแผนว่า บุคคลนั้นหน้าต้องเปนสีนั้น มีหนวดยาวหรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดี หรือแต่งเล่นงิ้วก็ดี ได้ความว่า เปนแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง คือ ในระวาง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เปนแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เปนเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่า รูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฏทุกวันนี้น่าจะเกิด


  1. รูปภาพเช่นนั้น ที่เปนเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก