หน้า:ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล - ๒๔๖๕.pdf/11

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐

มาตรา ๓๓ เมื่อนคราภิบาลเห็นว่า บ้านใดหมู่ใดชำรุดรุงรังหรือปล่อยให้โสโครกสมมมอาจจะเปนเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่อยู่ในที่นั้น หรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือผู้ที่ผ่านไปมา อันอาจจะให้เกิดอัคคีภัยหรือโรคร้ายขึ้น ถ้าเห็นสมควรจะบังคับให้เจ้าบ้านผู้ที่อยู่ในที่นั้นแก้ไขเสียให้ดี ก็มีอำนาจบังคับได้.

มาตรา ๓๔ เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดนคราภิบาลได้บังคับให้รื้อถอนจัดทำหรือซ่อมแซมบ้านเรือนใหม่ขัดขืนไม่กระทำตามบังคับของนคราภิบาลนั้น ก็ให้นคราภิบาลมีอำนาจร้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมาย.

หมวดที่ ๖
ว่าด้วยการสับเปลี่ยนและตั้งนคราภิบาล

มาตรา ๓๕ เมื่อถึงเวลาสับเปลี่ยนตัวนคราภิบาลใหม่ประจำปี ให้คณะนคราภิบาลเก่าแสดงบาญชีรายรับรายจ่ายยื่นต่อที่ประชุมราษฎร แลส่งเสียการงาน ยอดบาญชีสำมโนครัว แก่คณะนคราภิบาลใหม่จนสิ้นเชิง.

มาตรา ๓๖ ในเวลาเรียกประชุมใหญ่ประจำปีนั้น ให้สมุหเทศาภิบาลหรือผู้แทนเข้ามานั่งในที่ประชุมด้วย.

มาตรา ๓๗ คณะนคราภิบาลมีอำนาจที่จะจัดตั้งสภาเลขาธิการขึ้นแลเลขาธิการคงอยู่ในตำแหน่งตลอดไปจนกว่าจะลาออกหรือต้องออกด้วยเหตุอื่น.