หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/157

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
142

หยู่ไนเมือง พอเริ่มรึดูฝน คนถูกไอร้อนของหินกับไอฝนประสมกัน ก็อาดจะเปนไข้ได้สถานหนึ่ง ไนรึดูฝน ๆ ตกชะไบไม้ที่หล่นร่วงเน่าเปื่อยหยู่บนเขา พาเอาพิสไข้ลงมากับน้ำ คนก็อาดเปนไข้ด้วยกินน้ำมีพิสสถานหนึ่ง เมื่อสิ้นรึดูฝน น้ำท่วมแผ่นดินลด กำลังแผ่นดินชื้น ลมหนาวพัดมาระคนกับความชื้น ก็อาดเกิดไข้ได้อีกสถานหนึ่ง แต่สังเกตคนไนพื้นเมือง หรือแม้คนต่างถิ่นที่ไปหยู่จนคุ้นที่แล้ว ดูอนามัยก็เปนปรกติไม่แปลกกับที่อื่น ฉันไถ่ถามพวกกรมการไนพื้นเมืองถึงลักสนะความไข้ เขาบอกว่า ไข้มีชุกแต่เวลาเปลี่ยนรึดู คือ เมื่อรึดูแล้งต่อรึดูฝนคราวหนึ่ง กับเมื่อรึดูฝนต่อรึดูแล้งคราวหนึ่ง ไข้คราวต้นปีเมื่อรึดูแล้งต่อรึดูฝนไม่ร้ายแรงเหมือนกับไข้คราวปลายปีที่เราเรียกว่า “ไข้หัวลม” นอกจาก 2 รึดูนั้น ความไข้เจ็บก็มิไคร่มี โดยจะมีก็เปนหย่างธัมดาไม่ผิดกับที่อื่น ความเห็นของพวกที่ไปจากต่างถิ่นเขาว่า ความไข้เมืองเพชรบูรน์ร้ายกว่ามนทลอื่นบางมนทล เช่นมนทลอยุธยาเปนต้น จิงหยู่แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนเหมือนเช่นเลื่องลือ ถ้ารู้จักะวังรักสาตัว ก็ไม่สู้กะไรนัก แต่สำคันหยู่ที่ไจด้วย ถ้าขี้ขลาด ก็อาดจะเปนได้มาก ๆ เขาเล่าเรื่องเปนตัวหย่างว่า เมื่อปีที่ล่วงมาแล้ว มีเจ้าพนักงานกรมไปรสนีย์คนหนึ่งซึ่งเจ้ากะซวงส่งขึ้นไปหยู่ประจำการนะเมืองเพชรบูรน์ ขึ้นไปทางเรือไนรึดูฝน พอถึงเมืองเพชรบูรน์ก็จับไข้ อาการไม่หนักหนาเท่าไดนัก แต่เจ้าตัวกลัวตายเปนกำลัง พวกที่เมืองเพชรบูรน์บอกว่า จะรักสาไห้หายได้ ก็ไม่เชื่อ ขอแต่ไห้ส่งกลับกรุงเทพฯ หย่างเดียว เขาก็ต้องไห้กลับตามไจ