หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/27

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
12

หนึ่งไนพวกนั้นออกปากบนว่า ถ้ารอดชีวิตได้ ปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง พอบนแล้ว ลมพายุก็ซาลงทันที พวกคนหาปลาเหล่านั้นรอดกลับมาได้ จึงพากันไปหาท่านพระครูขออนุญาตปิดทองแก้สินบน ท่านพระครูว่า "ข้าไม่ไช้พระพุทธรูป จะทำนอกรีตมาปิดทองคนเปน ๆ หย่างนี้ ข้าไม่ยอม" แต่คนหาปลาโต้ว่า "ก็ผมบนไว้หย่างนั้น ถ้าขรัวพ่อไม่ยอมไห้ผมปิดทองแก้สินบน ฉวยแรงสินบนทำไห้ผมเจ็บล้มตาย ขรัวพ่อจะว่าหย่างไร" ท่านพระครูจนถ้อยคำสำนวน ด้วยตัวท่านก็เชื่อเรื่องแรงสินบน เกรงว่า ถ้าเกิดเหตุร้ายแก่ผู้บน บาปจะตกหยู่แก่ตัวท่าน ก็ต้องยอม จึงเอาน้ำมาลูบขาแล้วยื่นออกไปไห้ปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง แต่ไห้ปิดเพียงแผ่นเล็ก ๆ แผ่นหนึ่งพอเปนกิริยาบุญ พอคนบนกลับไปแล้ว ก็ล้างเสีย แต่เมื่อกิตติสัพท์เล่าลือกันไปว่า มีชาวเรือรอดตายได้ด้วยปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ก็มีผู้อื่นเอาหย่าง ไนเวลาเจ็บไข้หรือเกิดเหตุการณ์กลัวจะเปนอันตราย ก็บนปิดทองท่านพระครูวัดฉลองบ้าง ฝ่ายท่านพระครูมิรู้ที่จะขัดขืนหย่างไร ก็จำต้องยอมไห้ปิด จึงเกิดประเพณีปิดทองท่านพระครูวัดฉลองขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตัวท่านเคยบอกกับฉันว่า ที่ถูกปิดทองนั้นหยู่ข้างรำคาน ด้วยคันผิวหนังตรงที่ทองปิดจนล้างออกเสียแล้วจึงหาย แต่ก็ไม่กล้าขัดขวางคนขอปิดทอง เพราะฉะนั้น ท่านพระครูเข้าไปไนเมืองเมื่อได พวกที่ได้บนบานไว้ไครรู้เข้าก็ไปคอยดักทางขอปิดทองแก้สินบนคล้ายกับคอยไส่บาตร ท่านพระครูเห็นคนชอบปิดทองร้องนิมนต์ ก็ต้องหยุดไห้เขาปิดทองเปนระยะไปตลอดทาง