หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/350

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
335

นั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่น ๆ เพราะหาไม้ต่าง ๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่าย ฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจรเข้สามพันอันเปนที่พักแรม หยู่ที่ริมลำน้ำชื่อเดียวกันไต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก 700 เส้น

วันรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งหยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจรเข้สามพัน ดูเปนเมืองเก่าแก่ไหย่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยสิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่ง กับป้อมปราการต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอน ดูเปนตระพักสูงราว 6 สอก แล้วเปนแผ่นดินต่ำต่อไปสัก 5 เส้นถึงริมน้ำจรเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่า เรียกว่า "ท่าพระยาจักร" พิเคราะห์ดูลำน้ำจรเข้สามพัน เดิมเห็นจะเปนแม่น้ำไหย่ ที่สูงซึ่งส้างปราการจะเปนตลิ่ง ครั้นนานมา เกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยมีสะขุดขนาดไหย่ สัญถานเปนสี่เหลี่ยมรีหยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ไช้ไนรึดูแล้ง น่าจะเปนเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง เปนเหตุไห้เกิดห่า (เช่น อหิวาตกโรค เปนต้น) ลงกินเมืองเนือง ๆ มิไช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาหยู่ที่กรุงสรีอยุธยา ข้าง