หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๔) - ๒๔๗๒ a.pdf/38

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๘

ต่องเกิดวิวาทแก่กัน มหาหม่องต่องนั้นเข้าไปถวายพระพรแก่เจ้าอังวะว่า กามะสะแข่งถือดาบเดินขึ้นกุฎีแล้วเข้าทุบถองอาตมา เจ้าอังวะให้หาตัวกามะสะแข่งถาม กามะสะแข่งแก้ความว่า ไปนิมนต์ถึงสามปี มหาหม่องต่องให้ตีขับคนใช้เสียสามหน จึงออกไปถึงบนกุฎี มหาหม่องต่องฉวยไม้ไล่ตีออกมา กามะจึงตอบมหาหม่องต่องนั้นจริง เจ้าอังวะจึงว่า มหาหม่องต่องเป็นราชาคณะผู้ใหญ่ กามะก็ไม่เกรงกลัว ตัวกามะเป็นลูกเจ้า มหาหม่องต่องเล่าก็ไม่รู้จัก ผิดเป็นอยู่คนละอย่าง จะว่าข้างใครชอบก็ว่าไม่ได้ ให้เลิกความเสีย ๚

 จุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็งนักษัตร นพศกนั้น เจ้าอังวะได้ยินเพลงลางนิมิตรมีขึ้นว่า “นกกระทาขันบนเขา เอาหางมาแต่ยายเจ้าเข้าเกรียบ ริมรอบขอบลิ กลางจะบิไป เมืองใหญ่จะแตกเสียเอย” นั้น เจ้าอังวะพิเคราะห์เห็นความว่า ลางนี้มีเป็นข้อใหญ่ให้เมืองพะม่าเสียศูนย์เป็นมั่นคง จึงคิดการแก้อันตรายวิบัติ ให้เอาเจ้าหลานผู้หญิงองค์หนึ่งซึ่งกำหนดไว้จะให้เป็นเมียของหลานชายเอาไปไว้ในตำหนักสวน เอาเจ้าจักแกงผู้หลานตั้งเป็นผู้มีบุญยกกองทัพ ๙ กองออกไปเที่ยวประพาศป่า ได้นางองค์หนึ่ง แล้วยกกองทัพเข้าตีชิงเอาเมืองได้ เข้าอยู่ในวัง ตั้งการภิเศกซ้อนมือครองราชสมบัติเป็นผู้มีบุญมาใหม่ ทำทั้งนี้หวังจะให้บรรเทาโทษแห่งลางนิมิตร ๚

 ในปีมะเส็ง นพศกนั้น เจ้าอังวะเกณฑ์ให้อินแซะหวุ่นกับอุบากองยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ แตกกลับไป เสียอุบากองแก่กรุงไทยมาคนหนึ่ง ๚