หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๖) - ๒๔๗๕.pdf/9

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ตีกรุงกัมโพชา สมเด็จพระอุไทยราชาก็ลงเรือหนีลงไปเมืองไซ่ง่อน กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ยกติดตามไปจนถึงเปียมเนา มีกองทัพญวนขึ้นมาป้องกัน ได้รบกับกองทัพไทยหลายเวลา กองทัพไทยติดตามเอาตัวสมเด็จพระอุไทยราชาไม่ได้ กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ก็เลิกกลับเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองพระตะบอง

ครั้นณปีมะเส็ง ฉศก พระยาอุดมภักดี ซึ่งเป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง ได้ ๘ ปี ถึงแก่กรรม ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาซึ่งหนีลงไปพึ่งเจ้าเวียดนามณเมืองญวน กลับเข้ามาถึงกรุงกัมโพชา ก็ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระอุไทยราชามีราชธิดา ๔ องค์ ชื่อ เจ้าองค์แบน ๑ ชื่อ เจ้าองค์มี ๑ ชื่อ เจ้าองค์เภา ๑ ชื่อ เจ้าองค์สงวน ๑ ต่างมารดากันทั้ง ๔ องค์ เจ้าเวียดนามจึงตั้งเจ้าองค์มี บุตรสมเด็จพระอุไทยราชาที่ ๒ ให้ครองกรุงกัมโพชาธิบดี

ถึงปีจอ สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๘๑) โปรดให้ก่อกำแพงเมืองพระตะบอง ทรงตั้งเจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง (๕) ตั้งพระยาปลัด ชื่อ รศ ให้เป็นพระยาวิเศษสุนทร มีเครื่องยศพานทอง กระบี่บั้งทอง กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ก็เลิกเข้าไปณกรุงเทพฯ

ณปีกุน เอกศก (พ.ศ. ๒๓๘๒) มีท้องตราโปรดออกไปที่เมืองพระตะบองว่า ให้ยกเป็นกระบวนทัพไปสอดแนมจับพวกด่านเมืองโพธิสัตว์เข้ามาณกรุงเทพฯ จะได้ไต่ถามด้วยข้อราชการกรุงกัมโพชาธิบดี เจ้าองค์อิ่ม เจ้าเมืองพระตะบอง จึงจัดให้พระพิทักษ์บดินทร์ พระ