หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๗) - ๒๔๖๓.pdf/11

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ความในพระราชกำหนดนั้นว่า ขุนทิพกับหมื่นรุดอักษรยื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม เมืองสมุทปราการ รับจะประมูลเงินหลวงขึ้นเสมอปีละ ๓๗๑ ชั่ง (๒๙๖๘๐ บาท) ทรงพระราชดำริห์ว่า หัวเมืองทั้ง ๓ นั้นเปนที่ใกล้สวนบางช้าง อันเงินอากรสวนขึ้นพระคลังอยู่เปนอันมาก แลได้มีกฎ รับสั่งห้ามอยู่แต่ก่อนว่า มิให้ตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองเหล่านั้น ซึ่งผู้มีชื่อมายื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลดังนี้ผิดอย่างธรรมเนียม แลจะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้รับความเดือดร้อนขัดสนต่อไป จึงมีพระราชโองการสั่งแก่ออกญารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าราชการที่สมุหมณเฑียรบาล ให้เอาตัวผู้กราบทูลขอประมูลลงพระราชอาญาฯ แลต่อไปเมื่อน่า ถ้ามีผู้มาร้องขอประมูลพระราชทรัพย์ด้วยการอย่างใดให้ (เจ้าพนักงาน) พิเคราะห์ดูแต่ที่ชอบที่ควร จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แลห้ามมิให้ไปเดินเหินเจ้านายแลข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายใน (อันมิใช่เจ้าน่าที่) ให้กราบทูลให้เปนอันขาด เนื้อความตามพระราชกำหนดที่กล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิฐานเรื่องตำนานอากรบ่อนเบี้ยได้หลายข้อ คือ

ข้อ  ที่ปรากฎในกระแสพระราชดำริห์ว่า ได้มีกฎห้ามมิให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองที่ใกล้สวนใหญ่อันเปนที่ได้เงินอากรหลวงอยู่ปีละมาก ๆ เช่นนี้ ส่อให้เห็นว่า เมื่อรัฐบาลจะตั้งอากรบ่อนเบี้ยขึ้นนั้น ได้มีความคิดจะยอมให้เล่นเบี้ยแต่ในที่บางแห่ง อิกประการหนึ่ง ที่ว่า ถ้าให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยขึ้น จะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร