หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑) - ๒๔๕๗.pdf/135

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑๔

แต่โดยมากมีรอยพอเห็นตรงลบเลือนได้ กรรมการหอพระสมุดได้ให้พิมพ์พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ใน ร.ศ. ๑๒๖ ปีที่ได้มานั้นเปนครั้งแรก ครั้นปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้ หอพระสมุดได้หนังสือพระราชพงษาวดารความเดียวกับหลวงประเสริฐมาอิกฉบับหนึ่ง ๒ เล่มสมุดไทย เปนฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีเขียนเมื่อปีมเมีย ฉศก พ.ศ. ๒๓๑๗ เป็นเหตุให้ยินดี คาดว่า จะได้เรื่องราวพระราชพงษาวดารฉบับนี้จนจบ แต่ครั้นเอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบกันเข้า ได้ความปรากฎว่า ฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีเปนฉบับลอกจากเล่มของหลวงประเสริฐอักษรนิตินี้เอง เพราะที่สุดไปค้างเขินอยู่ตรงคำต่อคำเหมือนกับฉบับหลวงประเสริฐ เปนอันได้ความว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ นี้ มีเพียงเท่าที่ได้มาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว จึงสิ้นหวังที่จะหาเรื่องต่อได้อิกต่อไป แต่ที่ได้ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรีมามีประโยชน์อยู่อย่าง ๑ ที่ได้ความซึ่งลบเลือนในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติบริบูรณ์

พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แม้ความที่กล่าวเป็นอย่างย่อ ๆ มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฎในพระราชพงษาวดารฉบับอื่นออกไปอิกมาก แลที่สำคัญนั้น ศักราชในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแม่นยำ กระบวนศักราชเชื่อได้แน่กว่าพระราชพงษาวดารฉบับอื่น ๆ หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ จึงเป็นหลักแก่การสอบหนังสือพงศาวดารได้เรื่องหนึ่ง

ด.ร.