หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๓๔) - ๒๔๖๙.pdf/12

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ฝรั่งเศส อยู่ที่ฝรั่งเศสจนถึงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๗ จึงได้กลับเมืองไทย ทูตครั้งนี้มีชื่อเสียงเหมือนครั้งหลังซึ่งเปนครั้งที่ ๓ ที่ได้ออกไปยังประเทศฝรั่งเศสในปีต่อมานั้นไม่ บาดหลวงอาฟ วาเวตผู้ได้เดิรทางไปด้วยนั้น ได้จดหมายเหตุเรื่องราวของทูตครั้งที่ ๒ นี้ไว้โดยเลอียด เรื่องราวเหล่านั้นมีปรากฎอยู่ในหนังสือของบาดหลวงอาฟ ลอเนย์ ซึ่งได้พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้นแล้ว ชื่อของคณะทูตครั้งที่ ๒ นี้ยังหาทราบไม่ เท่าที่ทราบกันอยู่ก็แต่เพียงว่า เปนข้าราชการชั้นผู้น้อย ในทางสติปัญญาแลกิริยามารยาทก็ผิดกับทูตครั้งหลังซึ่งได้รับความชมเชยจากชาวฝรั่งเศสเปนอันมาก ทูตครั้งที่ ๒ นี้ได้รับความลำบากต่าง ๆ ในขณะเมื่ออยู่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากตนขาดไหวพริบในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเข้าใหม่ ๆ

การที่ทูตไทยออกไปยังประเทศฝรั่งเศสในครั้งที่ ๒ นั้น เกิดผลอย่าง ๑ คือ เปนเหตุให้ฝรั่งเศสส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรียังพระราชสำนักสยาม นับว่า เปนทูตฝรั่งเศสครั้งแรกที่ได้เข้ามาเมืองไทย มีมองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง เปนราชทูตคุมมา แลมีมองสิเออร์เดอ ชัวสี มองสิเออร์เชอวาเลีย เดอ ฟอรแปง บาดหลวงตาชาร์ต กับมีพวกเยซูอิต แลพวกขุนนางหนุ่ม ๆ อีกหลายคนเดิรทางเข้ามาด้วย ทูตฝรั่งเศสครั้งที่ ๑ นี้ได้ออกเดิรทางจากเมืองเบรสต ท่าเรือประเทศฝรั่งเศส แต่วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๗ มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ เมื่อกลับไปถึงเมืองฝรั่งเศสแล้ว