หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๒) - ๒๔๘๒.pdf/33

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๗

จะให้ยอม ก็ต้องยอม" การก็เป็นตกลง เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงอาราธนาให้พระสงฆ์สวดชยันโตและอดิเรกอิกครั้งหนึ่ง.[1]

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศกล่าวในที่ประชุมต่อไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชการแผ่นดิน ด้วยได้เคยทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึง ๒ แผ่นดิน ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติและพระคลังต่าง ๆ และสำเร็จราชการในสถานราชกิจ เป็นผู้อุปถัมภ์ในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน เป็นเสร็จการประชุมเวลาราว ๗ ทุ่มเศษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงให้อาลักษณ


  1. เรื่องตอนประชุมถวายราชสมบัติที่กล่าวมานี้ ได้ทูลถามกรมหมื่นราชศักดิสโมสร ท่านตรัสเล่าให้ฟัง ด้วยเวลานั้น ท่านทรงผนวชเป็นสามเณร ได้ประทับอยู่ในที่ประชุม ทรงจำความที่กล่าวกันในที่ประชุมถ้วนถี่ละเอียดกว่าจดหมายเหตุที่เจ้าพระยาทิพากรวงศและเจ้าพระยามหินทรได้จดไว้ เนื้อความก็ไม่เคลื่อนคลาดกัน ความในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศและเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงกล่าวถึงการเลือกกรมพระราชวังบวรฯ แต่ตอนปลายว่า ที่ประชุมยอมพร้อมกัน เห็นจะเป็นเพราะแต่งหนังสือนั้นในเวลาผู้ซึ่งเกี่ยวข้องยังอยู่ จึงไม่กล้ากล่าวถึงการที่มีผู้คัดค้าน แต่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งเจ้านายและขุนนางผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นท่านเล่าเป็นอย่างที่กล่าวมานี้ ทราบด้วยกันโดยมาก ต่อมา ได้ฟังเจ้าพระยาภาณุวงศฯ เล่าเมื่อก่อนจะอสัญกรรมไม่ช้านักอิกครั้งหนึ่งว่า การเลือกกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งนั้น ถ้อยคำที่กรมหลวงเทเวศร์ฯ ตรัส เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจดถวาย ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) แต่ยังเป็นขุนสมุทโคจร นั่งเขียนที่พระทวารเมื่อก่อนเวลาประชุม และในเมื่อปรึกษากันนั้น ในข้อจะถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ยินยอมพร้อมกันด้วยความยินดีจริง แต่เมื่อเลือกพระมหาอุปราช ท่านสังเกตดู ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบโดยมาก ที่ยอมเป็นด้วยกลัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเท่านั้น.