หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๖) - ๒๔๗๕ b.pdf/17

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๓

เขมร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสีหราชเดโช หลวงเทเพนทร ขุนหมื่น ๓๑ คน ไพร่ ๓๙ คน เข้ากัน ๘๐ คน หญิงหม้าย ๔ คน หญิงคนใช้ ๑๓ คน เข้ากัน ๑๗ คน เข้ากันชายหญิงนายไพร่ ๘๗ คน กับพระยาพิบูลยราช พระยาพระเขมร นาย ๑๙ ไพร่ ๓๐ เข้ากัน ๔๙ คน ออกไปทางบก ให้เป็นเกียรติยศกับพระองค์ด้วง โปรดให้มีพระราชโอวาทพระราชทานพระองค์ด้วงออกไป ข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง พร้อมกันได้กราบถวายบังคมต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานสิ่งของนอกท้องตราซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานออกไปนั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ครั้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด โทศก พระยาราชโยธา พระยาภิรมย์ราชา บอกนำดำเนิรท้องตรากับกระแสพระราชดำริส่งต่อตามระยะออกไปณเมืองปัตบอง ในท้องตราต้นกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมไปถึงข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง ว่า ซึ่งทำคุณไว้กับญวนปล่อยให้รอดขีวิตไปหาเสียเปล่าไม่ เป็นผลประโยชน์ในราชการอยู่ แต่ว่า เขมรรู้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าปล่อยญวนในที่ล้อมไป เขมรจะยินดีหรือจะไม่ชอบใจ ถ้าเขมรยินดีด้วยแล้ว เขมรคงจะนับถือ ถ้าเขมรไมชอบใจ จะเข้าใจว่า กลัวญวน ไม่รบพุ่ง ปล่อยญวนไปนั้น เขมรเสียใจ ก็ให้ข้าพระพุธเจ้าคิดอ่านพูดจากลบเกลื่อนแก้ความเสียให้สิ้นวิตกของเขมร ให้เขมรเห็นความว่า หากลัวเกรงฝีมือญวนไม่ ปล่อยญวนในที่ล้อมไป จะผ่อนการรบพุ่งให้รอลงแต่พอจะให้เขมรตั้งตัวได้ คิดอ่านไปอย่างนี้ ถ้าญวนหลงเชื่อ ก็เป็นประโยชน์มีคุณกับ