หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๖) - ๒๔๗๕ b.pdf/8

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เมืองพนมเพ็ญอย่างเดิม แต่คราวนี้ ญวนตั้งข้าหลวงและส่งทหารขึ้นม้าตั้งอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญและหัวเมืองเขมรที่ใกล้เคียงโดยอ้างว่า จะป้องกันมิให้ไทยไปย่ำยี เขมรก็อยู่ในอำนาจของญวนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๗ สมเด็จพระอุทัยราชาถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกลูกหญิงขึ้นครองเมือง และตั้งองเตียนกุน ขุนนางผู้ใหญ่ มาเป็นแม่ทัพกับทั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ฝ่ายพระองค์อิ่ม มหาอุปโยราชซึ่งอยู่กับไทย ได้ออกไปเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง กลับใจหนีไปเข้ากับญวน ด้วยประสงค์จะเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา แต่ญวนเห็นว่า ได้เมืองเขมรไว้ในเงื้อมมือแล้ว ก็กวาดเอาพวกราชวงศเขมรกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ไปไว้เสียเมืองญวน ญวนปกครองเมืองเขมรเองเป็นหัวเมืองของญวนต่อมา ให้เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในบ้านเมืองไปเป็นอย่างญวน และให้รื้อวัดสึกพระภิกษุสามเณรเสียเป็นอันมาก พวกเขมรเดือดร้อน ก็พากันเป็นกบฎต่อญวนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้วบอกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งตั้งขัดตาทัพคอยระวังเหตุการณ์อยู่ณเมืองพระตะบองว่า จะขอมาพึ่งไทยอย่างแต่ก่อน ขอกำลังลงไปช่วย และขอพระราชทานพระองค์ด้วง น้องของสมเด็จพระอุทัยราชาซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ออกไปครองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นเป็นท่วงทีที่จะเอาเมืองเขมรคืนจากญวนได้ บอกสนับสนุนคำขอของพวกเขมรเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึ่งโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพออกรบญวนในเมองเขมร และโปรดฯ ให้พระองค์ด้วงออกไปเข้ากองทัพช่วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อพระองค์ด้วงกราบถวายบังคมลา จึงพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งพิมพ์ไว้ต่อไปนี้