หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๓) - ๒๔๗๙.pdf/163

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ฆ)

พุทธศักราช กรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ครบ ๒,๐๐๐ ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูลสุขอยู่เพียง ๑๐๗ ปี แล้วก็เข้ายุคเข็ญมาก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้ตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ที่ผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวั่นหวาดว่า จะถึงยุคเข็ญ ก็ส่อให้เห็นว่า มิใช่พุทธศักราช หรือจะหมายว่า มหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี ถ้าเช่นนั้น เมื่อคำณวนดูใน พ.ศ. ๒๔๗๙ (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้ มหาศักราชได้ ๑,๘๕๘ ปี ยังอีก ๑๔๒ ปีจึงจะครบ ๒,๐๐๐ เข้าเขตต์ยุคเข็ญที่พยากรณ์ ถ้าหมายความว่า จุลศักราช ยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง ๑,๑๘๑ ปี ต่ออีก ๗๐๒ ปี (พ.ศ. ๓๑๘๑) จุลศักราชจึงจะครบ ๒,๐๐๐ ศักราช ๒,๐๐๐ ที่บอกไว้ ดูไม่เข้ากับเรื่องที่กล่าวในเพลงยาวทีเดียว ชวนให้สงสัยต่อไปถึงข้อที่อ้างว่า มีคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอยู่แต่ก่อน ที่จริงน่าจะเป็นด้วยคนชอบเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุบินชาดกมาเปรียบในเวลาเมื่อเห็นอะไรวิปริตผิดนิยม เกิดเป็นภาษิตก่อน แล้วจึงเลยเลือนไปเข้าใจกันว่า เป็นคำพยากรณ์สำหรับพระนครศรีอยุธยา ผู้แต่งเพลงยาวนี้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม หรือมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ตาม น่าจะปรารภความวิปริตอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช ๒,๐๐๐ อันตั้งใจว่า จุลศักราช เขียนลง เพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่า ถึงยุคเข็ญแล้ว