หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๓) - ๒๔๗๙.pdf/164

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ง)

เมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนั้น เห็นจะมิใคร่มีใครถือว่า สลักสำคัญ มาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์ เพลงยาวบทนนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น พวกไทยที่ตกไปเมืองพะม่าก็เห็นเช่นนั้น จึงเอาไปอวดอ้างพะม่าว่า พระเจ้าเสือทรงสามารถเห็นการในอนาคตห่างไกล ฝ่ายพวกไทยที่อยู่ในประเทศสยาม เมื่อเห็นพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองร้าง ก็เห็นว่า สมคำพยากรณ์เช่นเดียวกันโดยมาก ที่เรียกเพลงยาวบทนี้ว่า "เพลงยาวพุทธทำนาย" ก็มี จำกันได้แพร่หลายแต่คนละเล็กละน้อย ดูเหมือนจำได้โดยมากแต่ตรงว่า "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม" ครั้นเมื่อถามข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยามที่ยังมีตัวอยู่ (เข้าใจว่า เมื่อแรกสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร) ในรัชกาลที่ ๑ ถึงแผนที่พระนครศรีอยุธยา มีผู้จำเพลงยาวพยากรณ์นี้ได้ตลอดบท (อย่างกะพร่องกะแพร่ง) จึงให้จดลงไว้ข้างต้นสมุดเรื่องกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า เรื่อตำนานของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาจะเป็นดังกล่าวมา