หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/33

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

ตามตีขึ้นไปจนบ้านสระเกษไชโย ได้ค่ายหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่ กองทัพเชียงใหม่เสียช้างม้ารี้พลเครื่องสาตราวุธแก่ไทยเกือบหมด แม้จนเครื่องราชูประโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในมือไทย เกือบจับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ในครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่กับพวกพลที่เหลืออยู่ต่างรีบหนีเอาตัวรอดกลับไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร์

สงครามคราวนี้ พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ยกกองทัพหลวงมาเอง ได้ความในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่กองทัพที่พระเจ้าหงษาวดีแต่งให้เข้ามารบพุ่งเสียทีแตกไทยไป พระเจ้าหงษาวดีทรงวิตก ปฤกษากับเสนาบดีเห็นพร้อมกัน ถ้าไม่ปราบปรามไทยลงให้ได้ เมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะพากันเอาอย่างไทยกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าหงษาวดีจึงเสด็จเปนจอมพลยกมาเองเมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ จุลศักราช ๙๔๘ พ,ศ, ๒๑๒๙ จำนวนพลพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น ๒๕๐,๐๐๐ คน เดิรทัพเข้ามาทางด่านแม่สอด มาตั้งประชุมพลที่เมืองกำแพงเพ็ชร์ แล้วแยกทัพเดิรเปน ๒ ทาง ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกลงมาทางฝั่งตวันออก พระเจ้าหงษาวดียกลงมาทางฝั่งตวันตก พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองลำเลียงแลสะเบียงอาหารลงมาทางเรือ กองทัพลงมาถึงกรุงศรีอยุทธยาเมื่อเดือนยี่ ปีจอ