หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/60

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๓

พงษาวดารมีเนื้อความยุติต้องกันเพียงว่า ไทยได้ยกกองทัพออกไปตีเมืองพม่า แต่ผิดกันในข้อสำคัญ ในพระราชพงษาวดารว่า เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ได้เมืองย่างกุ้ง เมืองแปร เมืองตองอู เมืองหงษาวดี แล้วขึ้นไปล้อมเมืองอังวะ ขาดสเบียงอาหาร จึงต้องยกกลับมา ฝ่ายข้างพงษาวดารพม่าว่า ไทยยกไปตีเพียงเมืองเมาะตะมะกับเมืองทวาย ไปเสียที ต้องเลิกทัพกลับมา พิเคราะห์ดูแผนที่ เห็นว่า ความจริงเห็นจะไม่ได้ขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ด้วยเวลานั้น เมืองหงษาวดียังเปนราชธานีของพม่า มิใช่เมืองอังวะเปนราชธานีดังกล่าวในพระราชพงษาวดาร ที่จะเดิรทัพทางลุ่มแม่น้ำเอราวดีขึ้นไปถึงเมืองอังวะทางไกลมาก แลจะต้องผ่านแดนข้าศึกที่เปนเมืองใหญ่ไปหลายเมือง แม้เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ ยังเดิรกองทัพหลวงทางเมืองเชียงใหม่ไปทางเมืองหาง เพื่อจะเดิรในแดนข้าศึกให้ใกล้ กองทัพเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก เปนแต่ทัพขุนนาง เห็นจะเดิรทางลุ่มแม่น้ำเอราวดีตั้งแต่เมืองเมาะตะมะขึ้นไปถึงเมืองอังวะไม่ได้ ความข้อนี้ผู้ศึกษาโบราณคดีก็มีความสงไสยกันอยู่แต่ก่อนแล้ว

เหตุที่เกิดสงครามคราวนี้ก็เนื่องกับสงครามคราวที่ ๒๐ คือ เมื่อกองทัพพม่าที่เข้ามารบกับเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ที่ไทรโยกแตกยับเยินออกไปแล้ว สมเด็จพระนารายน์มหาราชทรงพระราชดำริห์เห็นการสงครามเปนที ด้วยพวกมอญเปนใจเข้ากับไทย แลพม่าก็แพ้ไป จึงโปรดให้เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก