หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/65

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๘

ราชสมบัติ จึงต้องออกทรงผนวชเสีย ทรงตั้งเจ้าฟ้าพระองค์น้อย คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต เปนพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ยังมีพระองค์เจ้าชายลูกเธอ ๔ พระองค์ เปนกรมหมื่นเทพพิพิธ องค์ ๑ กรมหมื่นจิตร์สุนทร องค์ ๑ กรมหมื่นสุนทรเทพ องค์ ๑ กรมหมื่นเสพภักดี องค์ ๑ ทั้ง ๔ องค์นี้พระชัณษาเปนผู้ใหญ่กว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร พระมหาอุปราช มาก กรมหมื่นเทพพิพิธชอบกับเจ้าฟ้าอุทุมพร แต่อิก ๓ องค์ไม่เข้ากัน เปนอริมาแต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์สวรรคตเมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๑๒๐ พ,ศ, ๒๓๐๑ เจ้าฟ้าอุทุมพร พระมหาอุปราช ได้ราชสมบัติ มีเหตุเกิดระแวงกันขึ้นกับเจ้า ๓ กรม คือ กรมหมื่นจิตร์สุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี ให้จับสำเร็จโทษเสียทั้ง ๓ องค์ แล้วเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ลาผนวชให้มาช่วยคิดอ่านราชการ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเข้ามาอยู่ด้วยในพระราชวัง แล้วเข้าเกี่ยวข้องหมองยุ่งในราชการต่าง ๆ จนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีความรำคาญ มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยร่วมพระอุทรอันเดียวกัน เกรงจะเกิดเปนปรปักษ์กันขึ้น จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วเสด็จออกทรงผนวช ครั้นเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ขึ้นครองราชสมบัติ ความเกี่ยงแย่งก็เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการ มีขุนนางพวก ๑ เปนขบถ คิดจะปลงพระเจ้าเอกทัศลงจากราชสมบัติ พวกนี้ไปปฤกษากับกรมหมื่นเทพพิพิธ ความทราบถึงสมเด็จ