หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/71

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๔

มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุของบาตหลวงที่อยู่กรุงศรีอยุทธยาในครั้งนี้ว่า เมื่อทูตทวายเข้ามา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้เสนาบดีประชุมปฤกษากันว่า จะควรรับเมืองทวายไว้เปนเมืองขึ้นหรือไม่ มีข้าราชการพวก ๑ ว่า ไม่ควรจะรับ ด้วยเห็นว่า ถ้ารับเมืองทวาย อาจจะเปนเหตุให้เกิดสงครามกับพม่าอิก แต่ข้าราชการโดยมากเห็นว่า ควรจะรับ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงรับเมืองทวายไว้เปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยา

ฝ่ายข้างเมืองพม่า พระเจ้ามังลอกปราบปรามพม่ามอญลงได้เรียบร้อยแล้ว จึงให้อภัยคามณี (เรียกในพงษาวดารว่า อาปะระกามณี) เปนแม่ทัพคุมพล ๗,๕๐๐ เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๒๔ พ,ศ, ๒๓๐๕ ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า พระยาจันทร์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้มาสามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศก็รับเมืองเชียงใหม่ไว้เปนเมืองขึ้น แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาพิศณุโลกยกกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพเมืองพิศณุโลกไม่ทันยกไป พม่าตีได้เมืองเชียงใหม่เสียก่อน จับพระยาจันทร์และท้าวพระยาผู้ใหญ่ไปไว้เมืองพม่า พระเจ้ามังลอกจึงตั้งให้อภัยคามณีเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่แต่นั้นมา พระเจ้ามังลอกครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปี ยังไม่ทันให้ลงมาตีเมืองทวาย ก็สิ้นพระชนม์ในปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๒๔ นั้น พระเจ้ามังระ ราชอนุชา ได้ราชสมบัติ ทางเมืองเชียงใหม่