หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/109

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
พงศาวดารเขมรอย่างย่อ

แต่เดิมเมืองเขมรมีเจ้านายสืบวงศ์มาแต่โบราณ แต่ก่อนเมื่อมีอำนาจก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ เมื่ออำนาจเสื่อมลงเพราะเกิดขบถในเมืองเขมรเองบ้าง เจ้านายวิวาทรบพุ่งกันเองบ้าง เสียทีแก่ไทยบ้าง แก่ญวนบ้าง ก็น้อยอำนาจลงทุกที ภายหลังก็พึ่งข้างญวนแข็งต่อไทยบ้าง พึ่งข้างไทยแข็งต่อญวนบ้าง อ่อนน้อมทั้งสองฝ่ายบ้าง การยืดยาวยกไว้ จะว่าแต่การที่เป็นไปในพระบรมราชวงศ์กรุงเทพมหานครบัดนี้ซึ่งตั้งมาแต่ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) มีคฤศตศักราช ๑๗๘๒ ครั้นปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) มีคฤศตศักราช ๑๗๘๓ พวกแขกชะวามะลายูในเมืองเขมรร่วมคิดกันกับญวนลุกลามขึ้นชิงเอาบ้านเมือง เจ้านายฝ่ายเขมรกับขุนนางต่อสู้มิได้ หนีเข้ามาพึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามช่วย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์นี้ได้แต่งกองทัพออกไปช่วยปราบปรามพวกแขกให้สงบและพวกญวนให้หนีไป แล้วให้ขุนนางเขมรผู้ใหญ่ออกไปรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมืองอยู่ถึง ๑๒ ปี รับการเกณฑ์และเก็บส่วยส่งเหมือนเมืองของไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับญวนเลย เพราะครั้งนั้น เมืองญวนก็กำลังเป็นศึกกันอยู่ หามีอำนาจมิได้ และซึ่งให้แต่ขุนนางไปรักษาอยู่นั้น เพราะเจ้านายฝ่ายเขมรซึ่งหนีเข้ามาพึ่งกรุงเทพมหานครนั้นเป็นแต่เจ้าหญิง ๓ องค์ เจ้าชายองค์หนึ่งชื่อ นักพระองค์เอง ชนมายุก็เพียง ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ