หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/11

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ง)

เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๕๑ ปีที่ ๒๗ ในรัชชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้ขุนสาราบรรจง ปลัดกรมพระอาลักษณ์พระราชวังบวร แปล พิมพ์ครั้งแรกในเล่มนี้

(๗) พงศาวดารเขมรอย่างย่อ กล่าวความตั้งแต่พวกแขกจามก่อการกำเริบขึ้นในเมืองเขมรเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาจนถึงสมัยเขมรเป็นจลาจลระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชชกาลที่ ๔ ไทยช่วยปราบปรามทำความสงบให้แก่บ้านเมืองเขมรได้อยู่เย็นเป็นสุขสมบูรณ์สืบมา

เรื่องนี้ไม่บอกว่าผู้ใดแต่ง แต่สำนวนใกล้กับพระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๔ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๗ รวมอยู่ในหนังสือพระราชพงศาดารย่อ พิมพ์ครั้งที่ ๒ รวมอยู่ในเล่มนี้

(๘) เรื่องที่เรียบเรียงใหม่ยังมีอีกหลายตอน แซกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ดังนี้

(ก) พระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๑ กล่าวความตั้งแต่นักองตนได้ทรงราชย์เป็นพระนารายณ์ราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๑ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบต่อมาจนถึงสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) เข้ามาเฝ้าทูลละอองณกรุงเทพฯ แล้วกราบถวายบังคมลากลับไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ โรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๘ โรงพิมพ์พระจันทร์