หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/113

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๙

เป็นสามารถ ครั้งนั้น ญวนรู้สึกตัวว่า คิดผิด จึ่งพานักพระองค์อิ่มซึ่งคุมตัวไว้เมืองเว้นั้นลงมาตั้งอยู่เมืองโจดก เกลี้ยกล่อมเขมรให้คืนกลับใจไปเข้ากับญวน ก็หาสมประสงค์ไม่ นักพระองค์อิ่มอยู่กับญวนถึงพิราลัยลงเสีย ยังอยู่แต่เจ้าผู้หญิงและเจ้าผู้ชายเล็กน้อยซึ่งเป็นบุตรหลานเจ้าเขมรที่ถึงพิราลัยนั้น นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรที่ไปกับกองทัพไทยมีอำนาจมากขึ้นเพราะไทยอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้จำหน่ายพระราชทรัพย์เกื้อหนุนในการรบนั้นเป็นอันมาก รบกันอยู่ถึง ๕ ปีจนญวนระอาใจในการที่จะรบต่อไป

ครั้นปีมะเส็ง สับตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ (พ.ศ. ๒๓๘๘) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๕ ญวนจึ่งให้ผู้รับใช้มาหาแม่ทัพไทยและนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรที่อยู่กับแม่ทัพไทย สัญญาขอเลิกการรบ ญวนกับเขมรจะไปมาค้าขายถึงกัน เจ้านายฝ่ายเขมรและพระยาพระเขมรซึ่งญวนพาตัวไปคุมไว้แต่ก่อนนั้นจะพามาคืนให้ทั้งสิ้น และญวนจะไม่มายึดเอาเมืองเขมรอย่างแต่ก่อน เป็นแต่ขอให้เจ้าเมืองเขมรแต่งทูตคุมเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าเวียดนามในปีที่ ๓ ทุก ๆ ๓ ปีอย่างครั้งนักพระองค์จันท์เจ้าเมืองเขมรที่เป็นพี่นักพระองค์ด้วง เจ้าเขมรกับพระยาพระเขมรพร้อมใจกันจะใคร่ยอมตาม จึ่งบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ๆ ก็โปรดให้ตามใจนักพระองค์ด้วง พระยาพระเขมร ฝ่ายญวนก็พาพวกเขมรที่ไปคุมไว้นั้นมาส่งคืนให้ผู้ครองเมือง ฝ่ายเขมรก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าเวียดนามในที่สุด ๓ ปีทุก ๆ ๓ ปีดังสัญญา แต่ฝ่ายกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรออกไปในปีกุน