หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๘) - ๒๔๖๐.pdf/106

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๓

๑๐๐ เส้น ครั้งนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อจะตั้งตัวเปนเจ้า ได้ปฤกษาขนบธรรมเนียมต่าง ๆ กับนายฤทธิ์ ผู้หลานเขย เพราะนายฤทธิ์เปนบุตรท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ เข้าใจมากในขนบธรรมเนียมราชการแผ่นดิน เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีความยินดีต่อสติปัญญาความคิดอ่านของนายฤทธิ์มากนัก เมื่อตั้งตนเปนเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว จึงตั้งนายฤทธิ์ให้เปนกรมพระราชวัง เรียกว่า วังน่าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านบุนนาคเรียกว่า เจ้าครอกข้างใน หม่อมเจ้าอำพันนั้นเปนพระองค์เจ้าอำพัน กิติศัพท์นั้นทราบมาถึงพระภัศดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ จึงมีความดำริห์ไม่เห็นชอบด้วยนายฤทธิ์ ผู้เปนญาติซึ่งเปนหลานเขยเจ้านครศรีธรรมราช มิใช่ญาติอันสนิท เข้าไปรับที่ตำแหน่งใหญ่ นานไปภายน่า เห็นว่า ไภยจะบังเกิดมี อนึ่ง ครั้งนั้น ก็ได้ทราบความประสงค์ของเจ้ากรุงธนบุรีว่า จะยกกองทัพออกไปตีปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราชสักเวลาหนึ่งเมื่อว่างราชการทัพรบกับพม่า กลัวว่า ถ้าเปนอย่างนั้นจริง นายฤทธิ์จะพลอยตายด้วยเจ้านครศรีธรรมราช มีความปราถนาจะออกไปลองใจนายฤทธิ์ซึ่งเปนวังน่าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ยังจะนับถือว่า เปนญาติอยู่ฤๅหาไม่ ถ้านับถือรับรองดี ก็จะว่ากล่าวให้สติเสียให้รักษาตัว ด้วยเหตุนี้ พระภัศดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ได้มอบถิ่นฐานบ้านเรือนทาษกรรมกรทั้งปวงให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งเปนบุตรผู้ใหญ่ อยู่รักษา แล้วพากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ กับพระธิดาใหญ่