หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/17

หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

หรือฮันสัน (Hudson) แต่เรื่องนี้ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นเสวยราชย์ได้สองปีแล้ว เสด็จประพาสเกาะชวา ได้ทรงว่าจ้างครูแตรชื่อ ฮอยท์เซน Heutsen ชาวโปรตุเกสมาจากเมืองปัตตาเวียอีกคนหนึ่ง และโปรดฯ ให้ร่วมกันคิดเพลงสรรเสริญไทยขึ้น ฉะนั้น ชื่อ Hoodson กับ Hudson หรือ Heutsen ทั้งสามชื่อที่อ้างมานี้ จะสะกดถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความจำของแต่ละบุคคล แต่ทว่า จะให้สันนิษฐานแล้ว ชื่อ Heutsen ซึ่งฟังก็เป็นภาษาคล้าย ๆ ฮอลันดา และหากว่ายิ่งมาจากปัตตาเวียแล้ว ก็น่าจะเป็นชื่อฮอลันดา ส่วนที่ท่านหญิงบอกว่า เป็นชาวโปรตุเกสนั้น ก็อาจเป็นลูกหลานชาวโปรตุเกสที่มาตั้งรกรากอยู่ที่ชะวา และได้เปลี่ยนแปลงชื่อของตนให้เข้ากับอักขรวิธีฮอลันดาก็เป็นได้

ฉะนั้น ตามที่ภราเธอร์ฮีแลร์พยายามที่จะสืบสาวความหลังไปถึงท่านลีลีสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไกลจากเหตุการณ์สักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าผู้ที่ได้แต่ฟังเขาแล้วไม่รู้จักใช้ความคิดเห็นของตนเอง

หลังจากไปติดต่อสู่ขอคุณประทุมให้คุณจันทรคุปต์แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสพบกับคุณพระเจนดุริยางค์หลายครั้งหลายหน ก็มีความรู้สึกว่า คุณพระเจนดุริยางค์ผู้นี้ก็คงเหมือนกับศิลปินทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ จะมีความสุขจนถึงสุดขีดก็ต่อเมื่อตนกำลังทำหรือเพ่งพินิจคิดแต่ในสิ่งที่เป็นของรักของโปรด เช่น ช่างเขียนก็มีความสุขขณะที่ป้ายสีระบายสีออกมาเป็นรูปภาพชั้นอมตะ นักแต่งหนังสือก็เมื่อตนมองเห็นภาพทะลุปรุโปร่งถึงนวนิยายที่นึกจะ

– 15 –