หน้า:พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - ๒๔๗๗.pdf/93

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๗

มหาวงศ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก เป็นพระยาเชียงใหม่

ก็บัดนี้ มีการที่จะไปกระทำแก่เมืองเชียงตุง จะต้องยกย่องเมืองลาว ๓ เมืองนี้ให้เป็นเจ้าขึ้น จะได้มีน้ำใจไปทำศึกสงครามกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และเจ้าพระยายมราช จึงโปรดฯ ตั้งพระยาเชียงใหม่เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ขนานนามว่า พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพีสีมหานัคราธิษฐาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างเจ้าประเทศราช พระเจ้าเชียงใหม่อยู่ได้ ๑ ปีก็ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดฯ ให้นายหนานสุริยวงศ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ซึ่งเป็นพระยาบุรีรัตน์นั้น ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ขนานนามว่า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชมหาโยนางคดไนย ราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่

ฝ่ายที่เมืองนครลำปางนั้น คำโสมได้เป็นเจ้าเมือง ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว ดวงทิพได้เป็นเจ้าเมืองนคร แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นพระเจ้านคร ครั้นถึงแก่พิราลัยแล้ว นายไชยวงศ์ บุตรพระเจ้านครดวงทิพ ได้เป็นพระเจ้านคร ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว น้อยอินทร์ บุตรพระยานครคำโสม ได้เป็นพระยานคร น้อยอินทร์นั้นเปนคนมักเสพสุรามาก นายน้อยญาณรังษีฟ้องเอาตัวลงมาไว้ณกรุงเทพมหานคร