หน้า:พรบ ปรับเป็นพินัย ๒๕๖๕.pdf/5

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๒๖
ราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่ความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และผู้กระทำความผิดทางพินัยยินยอม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งตามวรรคสาม

ในกรณีที่ความปรากฏต่อศาลในขณะที่พิพากษาว่า มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลมีอำนาจสั่งตามวรรคสามได้ แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้ยื่นคำร้องก็ตาม

ให้นำความในมาตรา ๓๐/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การสั่งของศาลตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

หากผู้กระทำความผิดทางพินัยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดในการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ศาลจะเพิกถอนคำสั่ง และออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากค่าปรับเป็นพินัย

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๑ ในคดีความผิดทางพินัย ถ้ามิได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยหรือฟ้องภายในกำหนดสองปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๒ เมื่อได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ผู้ใดชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้นั้นมิได้ชำระหรือชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน และเกินห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว จะบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อผู้นั้นมิได้

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๓ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รัฐผู้สั่งปรับเป็นพินัยรายงานการสั่งปรับเป็นพินัยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดทราบ และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการปรับเป็นพินัยของหน่วยงานนั้นแล้วเปิดเผยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกปี