หน้า:พรบ มาตรการป้องกันความผิดซ้ำ ๒๕๖๕.pdf/13

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๘
ราชกิจจานุเบกษา

เพิ่มเติม ลดหรือขยายระยะเวลา หรือยกเลิกคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือเปลี่ยนคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษเป็นคำสั่งเฝ้าระวังแทนก็ได้

มาตรา ๓๕ เมื่อศาลได้มีคำสั่งคุมขังผู้ถูกเฝ้าระวัง ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับการคุมขังก็ดี หรือได้รับการคุมขังแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้าพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนีระหว่างเวลาที่ต้องคุมขัง เป็นอันล่วงเลยการคุมขัง จะคุมขังผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๓๖ ก่อนครบกำหนดเวลาคุมขังภายหลังพ้นโทษ หากศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษต่อเนื่องจากการคุมขังตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๓๓ วรรคสอง พนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนครบกำหนดการคุมขังเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกคุมขังเมื่อครบกำหนดการคุมขังได้ แต่ศาลอาจมีคำสั่งดังกล่าวภายหลังครบกำหนดการคุมขังก็ได้ และให้นำหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาใช้บังคับโดยอนุโลม



มาตรา ๓๗ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ และมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันมิให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดดังกล่าวได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

มาตรา ๓๘ ถ้าปรากฏเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗ ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ที่ผู้ถูกเฝ้าระวังมีที่อยู่ หรือท้องที่ที่พบตัวผู้ถูกเฝ้าระวัง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ถูกเฝ้าระวังตามมาตรา ๗๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ห้ามควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังแล้ว ให้กรมราชทัณฑ์นำตัวผู้ถูกเฝ้าระวังไปคุมขังฉุกเฉินตามคำสั่งศาล