หน้า:พรบ มาตรการป้องกันความผิดซ้ำ ๒๕๖๕.pdf/14

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๙
ราชกิจจานุเบกษา

ต่อไป กรณีเช่นว่านี้ไม่ทำให้คำสั่งตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษสิ้นผลไป และให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังดังกล่าวต่อไปภายหลังพ้นจากการคุมขังฉุกเฉิน

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการทำความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ และการพิจารณายื่นคำร้องของพนักงานอัยการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๙ ให้ศาลพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการโดยเร็ว ถ้าเป็นที่พอใจว่า กรณีมีเหตุตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๗ ให้ศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้

ผู้ถูกเฝ้าระวังอาจยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นเสีย ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมีคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๔๐ ให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการบังคับตามคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน และให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๑ เมื่อศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉินแล้ว ให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการให้มีการเสนอความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาเสนอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษที่ศาลมีคำสั่งตามหมวด ๔ หรือเพื่อเสนอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษตามหมวด ๕ เพื่อป้องกันผู้ถูกคุมขังฉุกเฉินกระทำความผิด



มาตรา ๔๒ คำสั่งศาลตามหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด หมวด ๔ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และหมวด ๕ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานอัยการ ให้เป็นที่สุด ส่วนคำสั่งตามที่พนักงานอัยการร้องขอ ให้อุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

คำสั่งศาลชั้นอุทธรณ์ ให้เป็นที่สุด