หน้า:พรบ มาตรการป้องกันความผิดซ้ำ ๒๕๖๕.pdf/7

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๒
ราชกิจจานุเบกษา

ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชศาสตร์และสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละหนึ่งคน หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า จำเป็นต้องมีการใช้ยาหรือด้วยวิธีการรูปแบบอื่น ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

ให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ตามวรรคหนึ่งมาใช้เป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ประโยชน์อื่นใดอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้มาตรการทางการแพทย์ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ



มาตรา ๒๒ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ จะกระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามที่พนักงานอัยการร้องขอโดยกำหนด มาตรการเดียวหรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้

มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่

(๑) ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด

(๒) ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด

(๓) ห้ามเข้าเขตกําหนด

(๔) ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

(๕) ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย

(๖) ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด

(๗) ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร

(๘) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด

(๙) ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด