หน้า:พรบ มาตรการป้องกันความผิดซ้ำ ๒๕๖๕.pdf/8

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๓
ราชกิจจานุเบกษา

(๑๐) ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด

(๑๑) ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกําหนด

(๑๒) ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน

(๑๓) ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง

ศาลอาจกำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังในแต่ละมาตรการตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ

การมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และความได้สัดส่วนของการใช้มาตรการที่ต้องกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องถูกบังคับด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมีคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๒๓ ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์เป็นรายบุคคล พร้อมทั้งความเห็นว่า นักโทษเด็ดขาดผู้ใดสมควรให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเพื่อพิจารณาว่า สมควรกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ แก่นักโทษเด็ดขาดผู้นั้น รวมทั้งกำหนดวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

เมื่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดพิจารณาว่า สมควรกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ กับนักโทษเด็ดขาดผู้ใดแล้ว ให้เสนอรายงานและความเห็นต่อพนักงานอัยการภายในเวลาอันสมควรก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาและจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง