หน้า:พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน - ๒๔๗๐.pdf/5

หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว
(๒)

พระราชดำรัสนี้ได้ทรงเรียบเรียงอย่างรอบคอบที่สุด แสดงให้เห็นชัดว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระปรีชารอบรู้ไนทางรัฐประศาสนประเพณีการปกครองของไทยอย่างเก่าเปนอย่างดี และส่วนการประเพณีการปกครองอย่างที่นิยมกันในทวีปยุโรป ก็ได้ทรงศึกษาทรงทราบหลักการโดยตลอด. พระราชดำรัสนี้จึงเปนหนังสือที่ให้ความรู้ในทางการปกครองของประเทศสยามเปนอย่างดียิ่ง.

พระราชดำรัสนี้ นอกจากที่จะให้ความรู้อันดียิ่งดังว่ามาแล้ว ยังทำให้เห็นพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทะเจ้าหลวงเปนอย่างดีว่า พระองค์มิได้นึกถึงสิ่งอื่นเลยนอกจากความสุขของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเปนที่ตั้งเปนหลักสำคัญในการที่จะทรงพระราชดำริห์กิจการใด ๆ ทั้งปวง.

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิมเปนตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงนี้ ต้องนับว่า เปนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า "พลิกแผ่นดิน" ถ้าจะใช้คำอังกฤษก็ต้องเรียกว่า "Revolution" ไม่ใช่ "Evolution".

การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังนี้ มีน้อยประเทศนักที่จะสำเร็จไปได้โดยราบคาบปราศจากการจลาจล หรือจะว่าไม่มีเลยก็เกือบว่าได้. ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่าง "พลิกแผ่นดิน" เหมือนประเทศสยาม แต่หาได้ดำเนินกิจการไปโดยสงบราบคาบเหมือนอย่างประเทศสยามไม่ ยังต้องมีการจลาจลในบ้านเมือง เช่น มีขบถสัตสุมา ("Satsuma Rebellion") เปนต้น.