หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๐

พระราชนิพนธ์บทลครได้ ก็เห็นจะมีโอกาศพอจะทรงพระราชพงษาวดารได้ ความที่ว่านี้ ถ้าพิเคราะห์ดูถ้อยคำในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ที่ติเตียนสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแลยกย่องสมเด็จพระเจ้าบรมโกษมากจนเกินความคิดคนในชั้นหลังจะเห็นด้วยนั้นแล้ว ก็พอจะเห็นสม ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีเองแลผู้หลักผู้ใหญ่ในครั้งกรุงธนบุรีโดยมากเปนข้าราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงแต่งหนังสือพระราชพงษาวดาร (คือ ความฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕) ต่อที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกษได้ทรงค้างไว้ลงมาจบเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ เรื่องต่อนั้นลงมาจนเสียกรุงเก่าแก่พม่า เห็นจะแต่งเมื่อชำระหนังสือพระราชพงษาวดารในรัชกาลที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ เรื่องพระราชพงษาวดารตอนกรุงธนบุรีลงมาที่ปรากฎอยู่ในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้น รู้ได้แน่ว่า แต่งในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ให้ทรงแต่ง ขึ้นต้นที่แผ่นดินเจ้าตากสิน เชื่อมกับของเดิมไม่สนิท ยังพอสังเกตหัวต่อได้ มาในรัชกาลที่ ๔ ที่เห็นว่า ได้ชำระพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ เปนแน่นั้น เพราะฉบับพระราชหัดถเลขานี้ไม่ใช่แต่มีข้อความเพิ่มเติมขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่มเท่านั้น ยังตั้งรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาพระองค์ที่ ๒ ขึ้นอิกแผ่นดิน ๑ ในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเปนข้อสงไสยอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่น แลได้เชื่อมหัวต่อตอนกรุงธนบุรีต่อกับกรุงเก่าให้ความกลืนกันสนิทดีด้วย แต่ชำระมาได้เพียงเรื่องใน