หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/18

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เงื่อนปรากฏแต่ลักษณะการปกครองของขอมและของไทย พอสังเกตได้ว่า วิธีการปกครองมาแต่คติต่างกัน คือ พวกขอมปกครองตามคติซึ่งได้มาจากชาวอินเดีย พวกไทยปกครองตามคติของไทยซึ่งพามาจากเมืองเดิม มิได้เอาอย่างชาวอินเดีย เรื่องตำนานการปกครองของขอมกับของไทยที่เอามาใช้ในประเทศไทยก็ต่างกัน คือ เมื่อพวกขอมเข้ามามีอำนาจในประเทศไทยนั้น มิได้ปกครองเองทั่วทั้งประเทศ มีปรากฏขึ้นไปฝ่ายเหนือเพียงเมืองสวรรคโลกเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปหามีไม่ คงเป็นเพราะตอนข้างเหนือพวกอื่นยังปกครองเป็นประเทศราชขึ้นต่อขอม ในเรื่องตำนานโยนกก็ปรากฏว่า ในสมัยเมื่อพวกขอมเข้ามาครอบงำนั้น ทางเมืองหริภุญชัยพวกมอญยังปกครอง ทางเหนือขึ้นไปตามชายแม่น้ำโขงยังมีเจ้าลาวราชวงศ์ลาวจักราชครอบครองอยู่อีกช้านาน ครั้นพวกไทยได้แดนลาวทางฝ่ายเหนือ ก็ปกครองตามจารีตประเพณีของไทยลงมาทางข้างเหนือ เพราะฉะนั้น ในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย วิธีการปกครองประเทศไทยจึงมีอยู่เป็น ๒ อย่าง เมื่อทางฝ่ายเหนือปกครองตามประเพณีไทย เมืองทางฝ่ายใต้ปกครองตามประเพณีขอม ก็แต่ประเพณีการปกครองของขอมกับของไทยเหมือนกันอย่างหนึ่งซึ่งถือเอาอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลักในการปกครอง มาผิดกันที่พวกขอมถือลัทธิตามชาวอินเดีย สมมติว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นพระอิศวร พระนารายณ์ แบ่งภาคลงมาเลี้ยงโลก