หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/30

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๑

จึงมักอยู่ในสกุลซึ่งได้คุ้นเคยแก่ราชการที่ทำสืบกันมา เป็นอย่างนี้ตลอดลงไปจนนายชั้นต่ำที่เรียกว่า ขุนหมื่น แต่จะได้มีกฎหมายให้เป็นนายและเป็นไพร่ตามชั้นบุคคลนั้นหามิได้ มีกฎหมายลักษณะอันหนึ่งตั้งขึ้นเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า "พระราชกำหนดศักดินา" ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ถือที่นา ให้บุคคลเป็นเจ้าของที่นาได้มากและน้อยกว่ากันตามยศ เป็นต้นว่า พระมหาอุปราชจะมีนาได้เพียงแสนไร่ที่เป็นอย่างมาก และเจ้าพระยาจะมีนาได้ไม่เกินหมื่นไร่ และลดอัตราลงมาตามยศบุคคลโดยลำดับ จนถึงไพร่สามัญกำหนดให้มีนาได้เพียงคนละ ๒๕ ไร่เป็นอย่างมาก ดังนี้ มูลเหตุเดิมก็เห็นจะประสงค์เพียงห้ามมิให้ใครหวงที่นาไว้เกินกว่ากำลังที่จะทำให้เกิดผลได้ แต่ภายหลังมา เอาเกณฑ์ศักดินาตามกฎหมายนี้ไปใช้เป็นหลักในการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ที่สำคัญนั้น คือ เอาไปใช้เป็นอัตราสำหรับปรับไหม ดังเช่น ผู้ทำความผิดในคดีอย่างเดียวกัน ถ้ามียศเป็นนายพล ต้องเสียเงินค่าปรับมากกว่านายพัน เพราะศักดินามากกว่ากัน หรือถ้าปรับไหมให้แก่กันในคดีอย่างเดียวกัน ถ้าไพร่กระทำผิดต่อไพร่ ปรับทำขวัญกันตามศักดินาไพร่ ถ้าไพร่กระทำผิดต่อขุนนาง ต้องเอาศักดินาขุนนางปรับไพร่ แต่ถ้าขุนนางกระทำผิดต่อไพร่ ก็เอาศักดินาขุนนางนั้นเองปรับทำขวัญไพร่ ดังนี้

อีกอย่างหนึ่งนั้น ในการที่เป็นความกันในโรงศาล ยอมให้ผู้มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไปแต่งทนายว่าความแทนตัวได้ ประโยชน์ที่ได้ด้วยศักดินายังมีต่อไป จนถึงเข้าลำดับในที่เฝ้า และอย่างอื่น ๆ อีก