หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/31

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๒

จึงเป็นข้อสำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้คนปรารถนายศศักดิ์ แต่บุคคลซึ่งเป็นนายตามประเพณีโบราณต้องรับราชการเป็นนิจ และไม่พ้นราชการได้เมื่ออายุถึงหกสิบเหมือนอย่างไพร่ และไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากรัฐบาล (เช่นรับเงินเดือนกันทุกวันนี้) ผลประโยชน์ที่ได้ในตำแหน่งได้จากอุปการะจากไพร่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน คือ ได้อาศัยใช้สอยพวกสมพล และได้สิ่งของซึ่งพวกไพร่หลวงเพาะปลูกหรือทำมาหาได้แบ่งส่วนมากำนัลโดยใจสมัคร ถ้าและตัวนายเป็นตำแหน่งทำราชการอันเกิดค่าธรรมเนียม เช่น ค่าประทับตราตำแหน่ง เป็นต้น ก็ได้ค่าธรรมเนียมเป็นประโยชน์ในตำแหน่งด้วย ผู้ว่าราชการตามหัวเมืองยังได้ค่าปรับอันเป็นภาคหลวง เรียกว่า "เงินพินัย" เป็นผลประโยชน์ด้วยดังนี้

ตำแหน่งข้าราชการทั้งปวงมีทำเนียบเป็นกำหนดมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ไม่ตรงกับเช่นใช้ในโบราณสมัย ในทำเนียบนั้นกำหนดศักดิ์อีก ๓ อย่างนอกจากศักดินาที่กล่าวมาแล้ว คือ "ยศ" เช่น เป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น อย่าง ๑ "ราชทินนาม" เช่น ที่เรียกว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดี พระยาราชนกุล พระอินทรเทพ หลวงคชศักดิ์ ขุนมหาสิทธิโวหาร เป็นต้น อย่าง ๑ "ตำแหน่ง" เช่น เป็นเสนาบดี หรือปลัดทูลฉลอง เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี เป็นต้น อย่าง ๑ แต่โบราณศักดิ์ทั้ง ๓ กับทั้งศักดินารวมอยู่ในตัวบุคคลคนเดียว และเฉพาะแต่ในกระทรวงและกรมเดียวด้วย เป็นต้นว่า ถ้าใครได้ราชทินนามว่า "มหาเสนา" คงต้องเป็นเจ้าพระยา