หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/32

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

และเป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือโปรดให้ใครเป็นอัครมหาเสนาบดีกลาโหมก็คงต้องมีนามว่า "มหาเสนา" และมียศเป็นเจ้าพระยาด้วย ดังนี้ ข้าราชการตำแหน่งอื่น และชั้นอื่น กระทรวงอื่น ก็เป็นเช่นเดียวกันตลอดถึงข้าราชการหัวเมือง เช่น ผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลกก็คงเป็นเจ้าพระยา (หรือพระยา) สุรสีห์ ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีก็คงเป็นพระยา (หรือพระ) สุนทรสงคราม ถึงเปลี่ยนตัวคน ชื่อก็คงอยู่กับตำแหน่ง ไม่มีกิจที่จะต้องถามว่า เดี๋ยวนี้ใครเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือว่า ใครเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เพราะคงชื่อว่า เป็นเจ้าพระยามหาเสนาและพระยาราชนกุลอยู่เป็นนิจ ประเพณีเช่นว่ามาในโบราณสมัยทำนองนี้จะแลเห็นประโยชน์อย่างนี้ คือ ให้คนทั้งหลายต้องศึกษาเพียงทำเนียบที่ตั้งไว้ก็อาจจะรู้ได้ว่า ใครเป็นใครทุกตำแหน่งทุกกระทรวง มิพักต้องขวนขวายยิ่งกว่านั้น แต่ลักษณะการตั้งข้าราชการแต่โบราณเป็นแต่อาลักษณ์รับสั่งแล้วมีหมายบอกไปยังเจ้ากระทรวง ต่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรพระราชทานต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา

๑๐. ทีนี้ จะแสดงอธิบายระเบียบกระทรวงธุรการแต่โบราณต่อไป ได้กล่าวมาแล้วว่า วิธีการปกครองประเทศไทยแต่โบราณเอาการทหารเป็นหลัก การพลเรือนเอาแต่อาศัยใช้ทหารทำ หลักของวิธีนี้ยังใช้มาปรากฏจนในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร เช่น เมื่อคราวยกกองทัพไปปราบพวกฮ่อครั้งปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ตัวแม่ทัพ